คดี STARK
ผู้เสียหายจากกรณี STARK สามารถศึกษาข้อมูลกลุ่มรวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค ได้ที่
ข้อมูลเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ กรณี บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด
และการมอบอำนาจแบบกลุ่ม โดยกลุ่มรวมพลังฯ
VLA ช่วยผู้เสียหาย STARK ที่ขอดำเนินคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท หารือประสานทุกภาคส่วน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนราษฎร และ สื่อมวลชน
VLA is assisting STARK bondholders in a consumer class action motion seeking THB 27 Billion in punitive damages in coordinating with various agencies including the Department of Special Investigation (DSI), the Office of the Attorney General, the Anti-Money Laundering Office, the Security Exchange Commission Office, elected MPs and also the media. Read more about STARK case here.
Verapat Pariyawong joined a discussion with senior law enforcement official Police Major Yuthana Praedum, Acting Chief of the Department of Special Investigation (DSI) |
ข้อมูลคณะทำงานคดีสตาร์ค
โดย บริษัท วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย จำกัด
อ่านข้อมูลเต็มฉบับ PDF กดที่นี่
คณะทำงานคดีสตาร์คโดย บริษัท วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย จำกัด มุ่งช่วยเหลือผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบจากกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เสนอขายหุ้นกู้แก่ประชาชนและต่อมาได้ผิดนัดชำระหนี้โดยเหตุการผิดนัดอาจมีมูลเกี่ยวโยงกับการกระทำความผิด การกระทำละเมิด การวางแผนสมคบคิด การละเลยประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองซึ่งมีลักษณะตระเตรียมการวางแผนและดำเนินการอย่างอุกอาจจนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อประชาชนและนักลงทุนในวงกว้างเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นเฉพาะในส่วนหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านบาท อีกทั้งเกิดความเสียหายอื่นในวงกว้างและทำลายความเชื่อมั่นในระบบตลาดเงินตลาดทุนและระบบวิชาชีพทางกฎหมายและการบัญชีอีกทั้งยังอาจเกี่ยวพันกับขบวนการร่วมหรือสนับสนุนกระทำการทั้งในและต่างประเทศ โดยคณะทำงานฯ ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ให้คำปรึกษาทางกฎหมายและแนวทางการดำเนินคดีของผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น
คณะทำงานฯ ประกอบด้วยสมาชิกคณะทนายความได้แก่ คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายผู้มีประสบการณ์ด้านกฎหมายธุรกิจ การค้าการลงทุนและการเจรจาระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ และมีประสบการณ์สื่อสารอธิบายข้อกฎหมายต่อสาธารณะเป็นผู้ประสานงานหลักในคดีและร่วมวางยุทธศาสตร์ภาพรวมในการฟ้องร้องและดำเนินการเจรจาทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการประสานงานและติดตามความคืบหน้าผ่านหน่วยงานภาครัฐ กลไกทางการเมือง ภาควิชาการ และสื่อมวลชน โดยในการดำเนินคดีในศาลไทยจะทำงานร่วมกับ คุณธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยและทนายความอาวุโสผู้มีประสบการณ์ว่าความกว่า 40 ปี เคยว่าความช่วยเหลือประชาชนผู้เสียหายลักษณะกลุ่มมาตั้งแต่ก่อนมีกฎหมายให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และ คุณปกรณ์ อุ่นหิรัญสกุล ทนายความผู้มีประสบการณ์ร่วมฟ้องคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่มีการขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม คดีธุรกิจ และคดีล้มละลาย อีกทั้งยังเป็นทนายความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหารซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหารายสำคัญทั้งทางแพ่งและทางอาญาในคดีเกี่ยวกับบริษัทสตาร์คฯ
เนื่องจากคดีนี้มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ เช่น การบันทึกรายการทางการเงิน การทำรายการรับจ่ายเงินระหว่างบริษัทและบริษัทย่อย การทำรายการจ่ายเงินที่ไม่ตรงกับใบแจ้งหนี้ การใช้เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้อย่างไม่ถูกต้อง และการกระทำอื่นในรูปแบบผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งอาจมีลักษณะพยายามปกปิดและซับซ้อน คณะทำงานฯ จึงจะยังประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบัญชีและการตรวจสอบการทุจริตเพื่อให้คำปรึกษาในการต่อสู้คดี ได้แก่ อาจารย์สมชาย ศุภธาดา นักวิชาการและอดีตหัวหน้าภาควิชาการบัญชี และอดีตรองคณบดีฝ่ายการเงินและวางแผน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความเชี่ยวชาญด้านการบัญชีนิติวิทยา (forensic accounting) การอ่านและวิเคราะห์งบการเงิน การบัญชีบริหาร การบัญชีชั้นสูง เป็นผู้แต่งตำรา “การบัญชีนิติวิทยา” ปัจจุบันเป็นประธานคณะทำงานพัฒนาวิชาชีพบัญชีนิติวิทยา สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ร.ต.ท. ศิวะรักษ์ พินิจารมณ์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนและบริหารควบคุมความเสี่ยงการทุจริต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบในบริษัทมหาชน และให้คำปรึกษาและร่วมงานกับสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ จะประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาช่องทางการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหายโดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย การเจรจาและกลไกอื่นทั้งในและต่างประเทศต่อไป